วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ตำนานหนังไทย

หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ตำนานหนังไทย

“    ท่านมุ้ย” เป็นศิษย์เก่า UCLA ร่วมคลาสกำกับหนังกับ Francis Ford Coppola และ Roman Polanski แม้จะทรงสำเร็จการศึกษาวิชาเอกด้านธรณีวิทยา แต่บทบาทที่ทรงคร่ำหวอดและสร้างสรรค์ ผู้คนทั่วไปสัมผัสได้มากที่สุด ก็คือ ผู้กำกับภาพยนตร์ แต่บทบาทอื่นอันเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ก็คือ นักเขียนบท และผู้อำนวยการสร้าง นับเป็นเวลากว่า 35 ปี จากผลงานกำกับเรื่องแรก “มันมากับความมืด” เมื่อปี 2514 จนถึงปัจจุบัน ที่ท่านมุ้ยทรงคุโณปการต่อวงการภาพยนตร์ไทยอย่างยากยิ่งที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน ในวัยย่าง 65 ปี ท่านมุ้ยยังทรงมุ่งมั่นกับงานภาพยนตร์อย่างไม่ทรงเบื่อหน่าย ผลงาน “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” คือผลงานล่าสุดของท่านมุ้ย ที่กระตุ้นให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยกลับมาคึกคักขึ้นมาอีกครั้งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นับจากความคึกคักอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของ “สุริโยทัย” อีกหนึ่งผลงานขึ้นหิ้งของท่านมุ้ย เมื่อปี 2544 ซึ่งเป็นปีทองอีกปีหนึ่งของท่านมุ้ย เพราะทรงได้รับการคัดเลือกเป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดง” (ผู้สร้างภาพยนตร์-ผู้กำกับการแสดง) ส่วนผลงานที่กำลังคร่ำเคร่งอยู่ก็คือการเตรียมกำกับภาพยนตร์เรื่องใหม่ “เพชรพระอุมา” ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ เป็นหนังที่คาดว่าจะมาล่าทั้งเงินทั้งกล่องเลยทีเดียว ด้านตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 กำลังอยู่ในระหว่างถ่ายทำ ซึ่งท่านมุ้ยคาดว่าจะโกยเม็ดเงิน 400 ล้านบาท หลังจากภาค 1 และภาค 2 กวาดรายได้รวมกันกว่า 600 ล้านบาท นั่นหมายความว่า ท่านมุ้ยจะทรงเป็นผู้กำกับไทยที่ทำภาพยนตร์ซึ่งกวาดรายได้มหาศาลเช่นนี้ (และทรงเป็นผู้กำกับไทยที่กำกับหนังไทยต้นทุนสร้างสูงที่สุดอีกด้วย) ขณะที่ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ คือ ท่านมุ้ยนำทีมตัวแทนสื่อภาพยนตร์ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอให้ระบุ คำว่า "ภาพยนตร์" เพิ่มเติมในมาตรา 39 ถึง 41 เช่นเดียวกับสื่อมวลชนแขนงอื่นๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า เนื่องจากภาพวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ปรากฏในภาพยนตร์ มีอิทธิพลต่อการถ่ายทอดแนวความคิด และสร้างการรับรู้ เพื่อนำไปสู่การก่อเกิดพฤติกรรมได้อย่างกว้างขวาง เห็นได้ชัดจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดของอเมริกา และภาพยนตร์เกาหลี ที่สามารถเป็นเครื่องมือส่งเสริมความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจได้ 
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าความเคลื่อนไหวโดยมีท่านมุ้ยเป็นแกนนำครั้งนี้ จะทำให้ภาพยนตร์ได้รับศักดิ์และสิทธิ์เป็นสื่อมวลชนได้หรือไม่ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น